บรรยากาศการตกแต่งภายในเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านน่าอยู่ พระเอกหรือนางเอกของงานนี้ก็คือมัณฑนากรมืออาชีพ คำถามคือจะเลือกมัณฑนากรอย่างไรให้ได้ตรงใจ และมีรายละเอียดในการทำงานร่วมกันอย่างไรให้ลงตัว ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีข้อพิจารณาที่เจ้าของบ้านควรทราบ เพื่อให้ได้งานตกแต่งภายในที่มีคุณภาพถูกใจและสมราคา ดังนี้ เราจะหามัณฑนากรได้ที่ไหน/อย่างไร – เนื่องจากวิชาชีพควบคุมหลายสาขานั้นมีกฎห้ามโฆษณา และวิชาชีพนักออกแบบตกแต่งภายในและสถาปนิกก็อยู่ภายใต้กฎนั้น การหารายชื่อหรือข้อมูลมัณฑนากรจากการโฆษณาจึงเป็นเรื่องยาก โดยทั่วไปจะเป็นการ ‘บอกต่อ’ หรือ ‘ติดตามจากผลงาน’ คือเจ้าของบ้านอาจค้นหาแบบบ้านที่ชอบจากนิตยสารตกแต่งหรือจากการไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ และติดใจดีไซน์ ก็ถามหาข้อมูลผู้ออกแบบเอาจากแหล่งนั้น ๆ อย่างเช่นในนิตยสารบ้าน นอกจากมีรูปบ้านสวย ๆ ก็จะมีชื่อผู้ออกแบบระบุไว้ ชอบแบบไหน ก็ติดต่อไป นอกจากนี้จะมีมัณฑนากรอีกประเภทหนึ่งที่พ่วงมากับบริษัทรับเหมาตกแต่งบ้าน ซึ่งไม่มีข้อห้ามสำหรับผู้รับเหมาในการโฆษณา เราจึงสามารถเลือกจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ของบริษัทรับเหมาและจ้างมัณฑนากรของบริษัทนั้น ๆ เป็นผู้ออกแบบให้ก็ได้ เราจะเลือกมัณฑนากรอย่างไร – งานตกแต่งภายในสำหรับบ้าน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความพึงพอใจและความสุขของผู้อยู่อาศัย การเลือกจึงมีสองรูปแบบ คือ แบบแรก เปรียบได้กับเสื้อผ้ากึ่งสำเร็จรูป หมายถึงเรามีแบบที่ชอบในใจอยู่แล้ว แค่หาคนที่ทำตามแบบนี้ได้มาช่วยทำให้เป็นจริง ซึ่งต้องดูจากพอร์ตฟอลิโอหรือสถานที่ซึ่งนักออกแบบที่เราติดต่อเอามานำเสนอว่าสไตล์ที่เขาเคยทำตรงกับความชอบเราหรือไม่ กับอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเปรียบได้กับเสื้อผ้าแบบโอตกูตูร์ ที่เป็นงานศิลปะของดีไซเนอร์ชั้นสูง โดยการเลือกจากบริษัทที่มีชื่อเสียง และให้เขาเป็นคนคิดวางแผนออกแบบหาสิ่งที่เราน่าจะชอบมานำเสนอ มัณฑนากรจะมีหน้าที่เลือกในสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ และคิดแทนเจ้าของบ้าน ซึ่งมีหน้าที่แค่บอกว่า ชอบหรือไม่ชอบอะไร และจ่ายเงิน อาจจะแพงกว่าแบบแรก แต่ถ้าเลือกบริษัทที่ไว้ใจได้ก็จะลดภาระลูกค้าไปได้มาก ข้อมูลที่ต้องเตรียมให้มัณฑนากร – ในการทำงานร่วมกับนักออกแบบภายใน เจ้าของบ้านต้องเตรียมข้อมูลความต้องการทั้งด้านการใช้สอย ข้อมูลเกี่ยวกับรสนิยมความชอบเอาไว้เป็นโจทย์ในการออกแบบ มีภาพตัวอย่างประกอบด้วยยิ่งดี เพื่อเป็นเป้าหมายพื้นฐานในการทำงานสำหรับมัณฑนากร ถ้างบประมาณไม่จำกัด เมื่อมัฑณากรออกแบบมาแล้วก็นำแบบนั้นมาประเมิณราคาสำหรับการก่อสร้าง แต่ถ้ามีงบประมาณจำกัด ก็ต้องแจ้งให้มัณฑนากรทราบตั้งแต่ต้น เพื่อให้ราคาเป็นหนึ่งในโจทย์หรือกรอบของการออกแบบด้วย ไม่ให้งบบานปลาย ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างมัณฑนากร – โดยทั่วไปจะมีการคิดค่าใช้จ่าย 3 รูปแบบ แบบแรกคือ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้างและงานตกแต่งภายใน โดยมัณฑนากรแต่ละคนจะมีอัตราค่าบริการตามชื่อเสียงและฝีมือ นอกเหนือไปจากเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมวิชาชีพ กับอีกแบบหนึ่งคือคิดค่าออกแบบในลักษณะเหมาจ่าย คือลูกค้าและผู้ออกแบบตกลงว่าจ้างกันในวงเงินที่ทั้งสองฝ่ายพอใจและทำสัญญาจ้างทำแบบจบสิ้นเมื่อส่งแบบเสร็จ เจ้าของบ้านอนุมัติ ไม่ว่าจะนำแบบนั้นไปสร้างหรือไม่สร้าง และไม่ว่าค่าก่อสร้างตกแต่งจะเป็นเท่าไรก็ไม่เกี่ยวกับค่าออกแบบ ส่วนแบบที่สามคือ มัณฑนากรที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทรับเหมาตกแต่ง การว่าจ้างลักษณะนี้อาจเป็นได้ทั้งในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้างตกแต่ง หรือทางบริษัทอาจคิดรวมกับค่าก่อสร้างเลยโดยบอกลูกค้าว่า ไม่คิดค่าออกแบบแยก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตกลงและความพึงพอใจว่าจะจ้างแบบไหน
ขั้นตอนของงานตกแต่งภายในอาจมีรายละเอียดและค่าใช้จ่ายมาก ถ้าออกมาแล้วพอใจก็ทำให้เจ้าของบ้านมีความสุข แต่หลายคนก็อาจมองว่า ขั้นตอนเหล่านี้เป็นภาระและสิ้นเปลือง การเลือกบ้านจัดสรรหรือคอนโดคุณภาพที่ตกแต่งเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกสบายและประหยัดดี อีกทั้งได้เห็นผลงานสำเร็จก่อนซื้อ ซึ่งใครถนัดแบบไหนก็เลือกเอาตามที่ตัวเองชอบและตามงบประมาณที่มีได้เลย พูดง่าย ๆ ก็คือ... ‘เอาที่สบายใจ’ นั่นเอง
0 Comments
|